แบตเตอรีคืออะไร : กับคำถามนี้ทุกคนอาจจะต้องเคยมีคำถาม แบตเตอรีสามารถแบ่งแยกออกได้เป็นหลายชนิด หลายประเภท ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์การเชื่อมต่อ ที่แบตเตอรีประเภทนั้น ๆจะไปทำงานด้วย ซึ่งแบตเตอรีในที่นี้ ก็จะขอพูดถึงแบตเตอรีที่มีความใกล้ชิดกับผู้ใช้งานยานพาหนะประเภทรถยนต์เพียงประเภทเดียว นั้นก็คือ แบตเตอรีรถยนต์สำหรับแบตเตอรีรถยนต์จะถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ประจำรถยนต์อีกประเภทหนึ่ง ที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ที่อยู่คู่กับ รถยนต์โดยแบตเตอรีรถยนต์จะเป็นแบตเตอรีประเภทที่ สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้ากลับเข้าไปได้เก็บไว้ได้
ซึ่งหน้าที่ของแบตเตอรีคือการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ในรถยนต์ แต่หน้าที่หลัก ๆของแบตเตอรีที่สำคัญที่สุด นั้นก็คือการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า ไดสตาร์ท เพื่อใช้ในการสตาร์ทติดเครื่องยนต์นั่นเอง
รูป : ไดสตาร์ท
ไดสตาร์ท : จะมีหน้าที่ในการใช้สำหรับสตาร์ทเครื่องยนต์ในครั้งแรก และเมื่อเครื่องยนต์สามารถทำงานได้แล้วเครื่องยนต์ก็จะส่งกำลัง ไปขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ซึ่ง หนึ่งในอุปกรณ์ที่ะไปขับเคลื่อนเพื่อการสร้างกระแสไฟฟ้ากลับเข้าไปในแบตเตอรี นั้นก็คือ ไดชาร์จ
รูป : ไดชาร์ท
ไดชาร์จ : หรือที่มีอีกชื่อเรียกว่า “อัลเทอร์เนเตอร์” (Alternator) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ากระแสสลับขึ้นมา โดยรับกำลังงานมาจากการหมุนของเครื่องยนต์ ที่จะส่งผ่านกำลังงานมาทางผ่านสายพาน ต่อผ่านมายังอุปกรณ์ที่เรียกว่า ไดชาร์จ เพื่อที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและประจุกระแสไฟฟ้านั้นกลับเข้าไปที่ แบตเตอรี่ ตามเดิม ซึ่งปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่จะผลิตได้นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับขนาดของไดชาร์จ ระยะทางในการวิ่งของรถยนต์ และความเร็วที่ใช้ในการวิ่งของรถยนต์เป็นสำคัญ
ประวัติความเป็นมาของแบตเตอรีรถยนต์ ?
รถยนต์คันแรกที่ถูกผลิตขึ้นมา ก็ยังไม่มีแบตเตอรีเนื่องจากความต้องการของกระแสไฟฟ้ายังมีไม่มาก และ แบตเตอรีรถยนต์เริ่มมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในช่วง ราวปี ค.ศ. 1920 เมื่อรถยนต์ได้มีการติดตั้งพร้อมกับไดสตาร์ท และแบตเตอรีประเภทที่ไม่มีช่องสำหรับการเติมน้ำกลั่น ได้ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1971 โดยแรกเริ่มแบตเตอรีรถยนต์ที่มีการชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรีในยุคแรก ๆ จะได้รับการออกแบบให้มีความสามารถในการรับแรงดันไฟฟ้าได้เพียง6โวลต์ และมีขั้วบวก ,ขั้วลบ ติดตั้งอยู่ โดยจะมีการต่อขั้วบวกของแบตเตอรีเข้ากับ แชสซีของรถยนต์โดยตรง แต่ในทุกวันนี้รถยนต์บนท้องถนนเกือบทุกประเภท จะมีการต่อขั้วลบของแบตเตอรีเข้ากับ แชสซีของ รถยนต์แทน
รถยนต์ที่ใช้แบตเตอรีที่มีแรงดันไฟฟ้า6 โวลต์จะมีใช้งานจนถึงช่วงกลางปี ค.ศ. 1950 และได้มีการเปลี่ยนระบบแบตเตอรีที่มีแรงดันไฟฟ้า จาก 6 โวลต์เป็น 12 โวลต์เพราะเมื่อเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะมีความต้องการกำลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการสตาร์ทรถยนต์ที่มากขึ้น แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็ก ก็จะต้องมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยลง เช่นรถยนต์ที่มีความต้องการแบตเตอรี่ที่มีแรงดันไฟฟ้าเพียง 6โวลต์ตัวอย่างเช่น Volkswagen Beetleในช่วงกลางทศวรรษ ค.ศ. 1960 และ Citroën 2CVในปี ค.ศ. 1970 เป็นต้น
รูป : รถยนต์ที่ใช้ระบบแรงดันไฟฟ้าขนาด 6โวลต์
หลักการทำงานของแบตเตอรีรถยนต์ ?
แบตเตอรีรถยนต์ในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งลักษณะการทำงานของแบตเตอรีจะเป็นแบตเตอรีประเภทตะกั่วกรด ซึ่งในแผ่นธาตุจะประกอบด้วยแผ่นเซลล์ ขั้วบวก และขั้วลบ ที่ทำมาจากโลหะ ผสม ระหว่างตะกั่วและพลวงและมีการแช่ลงไปใน ELECTROLYTEหรือที่รู้จักกันในชื่อของน้ำกรดผสม (Sulfuric Acid) และเมื่อน้ำกรดผสมจะทำปฏิกิริยากับแผ่นธาตุในเชิงเคมีเพื่อเปลี่ยนพลังงานเคมี ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา โดยในแต่ละแผ่นเซลล์ สามารถจ่ายประจุไฟฟ้าได้ประมาณ 2 โวลต์เท่านั้น โดยเซลล์ของแบตเตอรีส่วนมากจะถูกนำมาต่อเข้ากับแบบอนุกรม (Series)ซึ่งจะเพิ่มโวลต์หรือแรงดันไฟฟ้าขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แบตเตอรี่ 12 โวลต์จะต้องใช้จำนวนเซลล์ 6 เซลล์ มาต่อกันแบบอนุกรม (Series)ซึ่งถ้าหากต้องการแบตเตอรีที่มีโวลต์ที่สูงขึ้น เช่น แบตเตอรีขนาด 24 โวลต์ก็จำเป็นที่จะต้องใช้แผ่นเซลล์ถึง12 แผ่นเซลล์ เป็นต้น
รูป : การต่ออนุกรมของเซลล์ภายในแบตเตอรีขนาด12 โวลต์
แต่ในปัจจุบันที่แบตเตอรียังคงมีการใช้แบตเตอรีแบบตะกั่วกรดในรถยนต์ทั่วไป ก็ด้วยเหตุผลของต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และประสิทธิภาพในการที่ผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังสูงได้ จึงทำให้รถยนต์ในหลากหลายค่าย หลากหลายยี่ห้อ ยังคงเลือกที่จะใช้แบตเตอรีประเภทตะกั่วกรด เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยในการสตาร์ทติดเครื่องยนต์ ของรถยนต์นั่นเอง
ประเภทของแบตเตอรีรถยนต์
ในประเทศไทยแบตเตอรีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น4ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
รูป : แบตเตอรีน้ำ
1.แบตเตอรี่น้ำ
แบตเตอรีน้ำ : หรือที่เรียกภาษาช่างทั่วไปเรียกว่า แบตฯน้ำ เป็นแบตเตอรีรุ่นแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ก่อนที่จะมีแบตเตอรีรุ่นใหม่ ประเภทต่าง ๆ ถูกผลิตตามออกมา แบตเตอรีน้ำ หรือในชื่อสากลอย่างเป็นทางการ จะเรียกว่า แบตเตอรีConventionalหรือ แบตเตอรีชนิดธรรมดา ภายในของแบตเตอรีประเภทนี้จะมีแผ่นธาตุ เป็นวัสดุประเภทโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวงและก็จะมีการใส่น้ำกรดลงไปในแบตเตอรีทำให้แบตเตอรีประเภทนี้ถูกเรียกว่าแบตเตอรี่น้ำ โดยแบตเตอรีชนิดนี้เป็นชนิดที่ต้องเช็คปริมาณน้ำกลั่น และแนะนำให้มีการตรวจสอบอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง และหากน้ำกลั่นมีระดับที่ลดลง แนะนำให้มีการเติมน้ำกลั่นเพิ่มในระบบ เป็นต้น
รูป : แบตเตอรี่ไฮบริด
2. แบตเตอรี่ไฮบริด
แบตเตอรี่ไฮบริด หรือที่เรียกภาษาช่างทั่วไปว่า แบตไฮบริด เป็นแบตเตอรีที่ได้รับการปรุงปรุง และพัฒนามาจากแบตเตอรี่น้ำ โดยภายในของแบตเตอรีประเภทนี้จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียมเฉพาะแผ่นธาตุลบ เพื่อแก้ไขปัญหาของแบตเตอรีน้ำที่จะมีปัญหาเรื่องการระเหยตัวของน้ำกลั่นที่ค่อนข้างสูง โดยแบตเตอรี่ไฮบริดนี้ จะมีอัตราการระเหยของน้ำกลั่นที่น้อยกว่า แบตเตอรี่น้ำแบบธรรมดา และแนะนำให้มีการตรวจสอบในทุก ๆ 15,000 กม. และหากน้ำกลั่นมีระดับที่ลดลง แนะนำให้มีการเติมน้ำกลั่นเพิ่มในระบบ
รูป : แบตเตอรี่กึ่งแห้ง รูเติมน้ำกลั่น อยู่หลังสติ๊กเกอร์
3.แบตเตอรี่กึ่งแห้ง
แบตเตอรีกึ่งแห้ง หรือที่เรียกภาษาช่างทั่วไปว่า แบตกึ่งแห้ง เป็นแบตเตอรีประเภทพร้อมใช้ ที่มีการเติมน้ำกรด และอัดไฟมาแล้วจากโรงงานผู้ผลิต และเป็นแบตเตอรีอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการออกแบบและพัฒนามา เพื่อแก้ปัญหาการเติมน้ำกลั่น โดยภายในของแบตเตอรีจะมีการเพิ่มสารประเภทแคลเซียมลงไปในแผ่นธาตุ ซึ่งสารแคลเซียมประเภทนี้ จะทำให้แผ่นธาตุของแบตเตอรีมีอัตราการสึกหรอที่ช้ากว่าเดิม และช่วยให้การระเหยของน้ำในแบตเตอรี่มีการระเหยที่ลดลงด้วย ซึ่งแบตเตอรีชนิดนี้จะถูกเรียกว่าแบตเตอรีMFหรือ แบตเตอรีMaintenance Free และด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจากแบตเตอรีรุ่นแรก ๆ จึงทำให้แบตเตอรีรุ่นนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะตลอดอายุการใช้งาน อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเติมน้ำกลั่น (แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบแบตเตอรีหลังจากที่มีการใช้งานบ้าง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศในอากาศที่ร้อน และหากตรวจพบว่า ปริมาณน้ำกลั่นมีระดับที่ลดลง แนะนำให้มีการเติมน้ำกลั่นเพิ่มในระบบ โดยรูเติมน้ำกลั่น มักจะอยู่หลังสติ๊กเกอร์ที่ปิดอยู่ที่ด้านบนของแบตเตอรี)
รูป : แบตเตอรี่แห้ง
4. แบตเตอรี่SMF
แบตเตอรี่ SMF (Sealed Maintenance Free) เป็นแบตเตอรีประเภทพร้อมใช้ ที่มีการเติมน้ำกรด และมีการประจุกระแสไฟฟ้ามาจากโรงงานแล้ว เป็นแบตเตอรีอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการออกแบบและพัฒนามา เพื่อแก้ปัญหาการเติมน้ำกลั่น จึงมักจะทำให้ผู้ใช้งานมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นแบตเตอรีแบบแห้ง แต่ความจริงแล้วแบตเตอรีประเภทนี้ก็ไม่ได้แห้งจริงสะทีเดียว แต่ยังคงมีน้ำกรดอยู่ในแบตเตอรี โดยแบตเตอรีประเภทนี้จะไม่มีรูเติมน้ำกลั่น เหมือนกับแบตเตอรีแบบกึ่งแห้ง เพื่อแก้ปัญหาการระเหยของน้ำกรดภายในแบตเตอรี ที่มักจะเกิดขึ้นกับแบตเตอรีรุ่นเก่า ๆที่ยังต้องมีรูสำหรับการเติมน้ำกลั่น
ซึ่ง แบตเตอรี รุ่นนี้ อย่างที่บอกคือจะไม่มีรูสำหรับเติมน้ำกลั่น แต่จะมีรูระบายอากาศที่อยู่ด้านข้างเพื่อไว้ใช้สำหรับลดแรงดันในแบตเตอรี และจะมีช่องไว้สำหรับดูคุณภาพของแบตเตอรี ซึ่งช่างมักจะเรียกว่า ช่องตาแมว เพื่อคอยตรวจสอบว่า คุณภาพของแบตเตอรีอยู่ในระดับเท่าใด โดยจะมีการเปลี่ยนไปของสี ในช่องตาแมว ซึ่งหากลักษณะสีของตาแมวที่เปลี่ยนไป จะบ่งบอกถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรีที่อาจจะลดลง โดยสีของตาแมวของแบตเตอรี ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยทั่ว ๆไปจะมีคุณสมบัติและความหมายของสีที่แสดง ดังนี้
รูป : ลักษณะสีตาแมว ของแบตเตอรีทั่วไป
ตาแมวสีฟ้า หมายถึง กระแสไฟเต็ม
ตาแมวสีขาว หมายถึง กระแสไฟอ่อน
ตาแมวสีแดง หมายถึง น้ำกลั่นแห้ง หรือเสื่อมประสิทธิภาพ
แต่ถ้าเป็นสีของตาแมวของแบตเตอรีของ Speedmate จะมีลักษณะสีของตาแมวที่จะแตกต่างออกไป คือ
รูป : ลักษณะสีตาแมว ของแบตเตอรี SpeedMate
ตาแมวสีเขียว หมายถึง กระแสไฟเต็ม
ตาแมวสีดำ หมายถึง กระแสไฟอ่อน ควรชาร์จหรือประจุกระแสไฟทันที
ตาแมวสีใส หมายถึง กระแสไฟอ่อนมาก ไม่เพียงพอต่อการใช้งานหรือเสื่อมประสิทธิภาพ เป็นต้น
เป็นยังไงกันบ้างหละครับกับบทความเกี่ยวกับแบตเตอรีที่ได้มีการแนะนำไป แบบนี้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ก็คงจะสามารถที่จะเลือกประเภทของแบตเตอรีเพื่อนำไปใช้งานกับรถยนต์ของตัวเองได้แล้วใช่ไหมหละครับ แต่การเลือกแบตเตอรีนอกจากรูปทรงภายนอก และคุณสมบัติของการดูแล รูปแบบการเติมน้ำกลั่นที่แตกต่างกันแล้ว มีอะไรเกี่ยวกับแบตเตอรีที่สมควรที่จะต้องทราบเพิ่มเติมรึเปล่า และการเลือกแบตเตอรี เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะเอาแบตเตอรีประเภทไหน แต่แบตเตอรีแบบไหนหละ ที่จะเหมาะสมกับรถยนต์ของเราที่สุด